
ชื่อเขื่อน : เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
สถานที่ตั้ง : อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ลักษณะเขื่อน : เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียว ตัวเขื่อนมีความสูง ๔๒ เมตร ยาว ๙๔๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๗.๕ เมตร อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๘ ตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้ ๑,๙๖๖.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ ๑,๙๖๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิไฟฟ้าจำนวน ๓ เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ ๑๒,๐๐๐ กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น ๓๖,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยประมาณ ปีละ ๙๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยอันเป็นสาขา ของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๑ และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนาม เขื่อนว่า “เขื่อนสิรินธร” สร้างเสร็จในปี ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เขื่อนสิรินธรเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
ประโยชน์
เขื่อนสิรินธร เป็นโครงการอเนกประสงค์จึงสามารถอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนา ประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้
การผลิตพลังงานไฟฟ้า สามารถใช้พลังน้ำมาผลิตพลังงานได้เฉลี่ยปีละ ๙๐ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ขยาย ขอบเขตการจ่ายกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปได้กว้างขวางขึ้น
การชลประทาน สามารถส่งน้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำไปใช้ในระบบชลประทาน ได้เป็นพื้นที่ ๑๕๒,๐๐๐ ไร่
บรรเทาอุทกภัย เขื่อนสิรินธรสามารถกักเก็บน้ำที่ไหลบ่ามาตามแม่น้ำลำโดมน้อยไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วม
การประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ทำให้ราษฎรมีอาชีพหลักเพิ่มขึ้น
การคมนาคม สามารถใช้อ่างเก็บน้ำเป็นเส้นทางเดินเรือติดต่อค้าขาย และคมนาคมขนส่งผลผลิต ออกสู่ตลาดได้สะดวกอีกทางหนึ่ง
การท่องเที่ยว ความสวยงามสงบร่มรื่นของภายในบริเวณเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้ นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและพักผ่อนหล่อนใจเป็นจำนวนมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น