เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง


ชื่อเขื่อน : เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง
สถานที่ตั้ง : อำเภอปลวกแดง จ.ระยอง
ลักษณะเขื่อน : เขื่อนดิน สูง ๒๔ เมตร มีความยาวตาม สันเขื่อน ๔,๐๖๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร ฐานกว้าง ๑๓๒.๘๐ เมตร ความจุของอ่างเก็บน้ำสูงสุด ๒๐๕.๘๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุดกักเก็บปกติ ๑๖๔ ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ ๑๒๗ ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนหนองปลาไหล เป็นเขื่อนเพื่อการชลประทานในโครงการชลประทานระยอง แต่เดิมจังหวัดระยองมีแหล่งน้ำหลักๆ คืออ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอจึงต้องสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำเดิมไป ๕ กิโลเมตรมีชื่อว่าอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยสร้างกั้นลำห้วยคลองใหญ่หนึ่งในลำห้วยสาขาทางตอนเหนือของแม่น้ำระยอง ตัวอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ ๒๒.๘๙ ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝน ๔๐๘ ตารางกิโลเมตร น้ำทั้งหมดที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำคือน้ำฝนในพื้นที่รับน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ราบไม่มีภูเขาไม่มีป่าไม้ ดั้งนั้นปริมาณน้ำในอ่างจึงฝากความหวังไว้กับปริมาณน้ำฝนเพียงอย่างเดียว น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนหนองปลาไหลถูกปล่อยลงสู่คลองชลประทานซึ่งไหลผ่านอำเภอบ้านค่ายผ่านพื้นที่ทำการเกษตรในเขตจังหวัดระยอง ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานจำนวน ๓๐,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้น้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลยังใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนระยอง น้ำส่วนหนึ่งยังใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในจังหวัดระยอง โดยการประปาระยอง การประปาบ้านฉาง และยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการประปาของเมืองพัทยาอีกด้วย
นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๕ ระยองได้กลายเป็นเมืองอุตสหากรรมหนัก มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมายทั้งนิคมอุตสาหกรรมของภาครัฐและเอกชน แต่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีแหล่งน้ำเพื่อการอุตสหากรรมซึ่งจะต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ดั้งนั้นจึงเกิดการแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชนที่ต้องใช้แหล่งน้ำแห่งนี้ผลิตเป็นน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนในจังหวัดระยอง ตามลำพังน้ำใช้ในภาคการเกษตรและภาคประชาชนก็ไม่ค่อยจะเพียงพออยู่แล้ว โดยทุกปีในช่วงฤดูแล้งจะเกิดปัญหาน้ำหมดอ่าง ประชาชนในเขตระยองจำนวนมากต้องสั่งซื้อน้ำจากรถน้ำเพื่อใช้สอย และเพื่อใช้รดน้ำในสวนทุเรียนซึ่งเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาการแย่งน้ำจากภาคอุตสาหกรรมจึงทำให้ยิ่งเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำยิ่งรุนแรงขึ้น ภาคการเกษตรถึงแม้จะไม่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศแต่ก็เป็นอาชีพของคนท้องถิ่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่และเป็นเจ้าของพื้นที่ พื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนพื้นที่มหาศาลถูกเวนคืนมาจากประชาชนเจ้าของพื้นที่เพื่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน แต่วันนี้ ( ๒๐ ส.ค. ๒๕๔๘ กลางฤดูฝน ) ประชาชนในพื้นที่ชลประทานที่มีคลองชลประทานผ่านกลับไม่มีน้ำเพราะต้องกันน้ำไว้เพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรถูกใช้เป็นแหล่งน้ำดิบราคาถูกป้อนให้กับผู้ผลิตน้ำเพื่อป้อนให้กลับโรงงานอุตสาหกรรมสร้างผลกำไรจำนวนมหาศาล จึงถึงวันนี้ ๒๐ ส.ค. ๒๕๔๘ น้ำหมดอ่าง ปริมาณกักเก็บต่ำสุด ๑๓.๑๖ ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งจะต้องกันไว้เพื่อหล่อเลี้ยงอ่างเก็บน้าเพื่อไม่ให้อ่างแตกกลับถูกบริษัทผู้ผลิตน้ำดูดขึ้นมาใช้จนเหลือเพียง ๙.๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าหากยังไม่มีฝนตกเพิ่มจะทำให้เหลือน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาได้เพียง ๒๐ วันเท่านั้น นี่ขนาดว่าอยู่ในช่วงกลางฤดูฝนยังมีปัญหาถึงเพียงนี้ หากพ้นฤดูฝนต้องผ่านฤดูแล้งยิ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสาหัสยิ่งนักยากที่จะแก้ไข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น